ประวัติความเป็นมาของสถานีตำรวจภูธรราชสาส์น

สถานีตำรวจภูธรราชสาส์น
   
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่  7 กุมภาพันธ์ 2520 โดยเปิด ที่ทำการชั่วคราวที่อาคารโรงเรียนวัดจระเข้ตาย ร่วมกับอำเภอราชสาส์น โดยแบ่งห้องทำงาน แต่อยู่ในอาคารเดียวกัน และได้ย้ายจากโรงเรียน วัดจระเข้ตาย มาเปิดที่ทำการที่สถานีตำรวจภูธรราชสาส์น(แห่งเดิม) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นอาคารคอนกรีตแผ่นฝาปูนหนา 1 ซม. ประตูไม้ อาคารชั้นเดียว ชั้นล่างโปร่ง ติดกับถนนราชสาส์น – ดงน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา
   ต่อมา ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ ในพื้นที่ ต.ดงน้อย อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา บนที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 85 ตารางวา ซึ่งได้จากการบริจาค และ ได้งบประมาณดำเนินการก่อสร้างปี  พ.ศ. 2559  แล้วเสร็จ เมื่อเดือน พฤษภาคม 2559 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการย้ายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ ที่ทำการอาคารหลังใหม่  ในวันที่ 1 กันยายน 2559  พร้อมให้บริการประชาชน ดังปรากฏในปัจจุบันนี้

ชื่ออักษรไทย : สถานีตำรวจภูธรราชสาส์น

ชื่อย่อ : สภ.ราชสาส์น

ชื่ออักษรโรมัน : Ratchasan Police Station

หัวหน้าสถานี : พ.ต.อ.กฤตปณิธิ  พุฒศิริ

ตำแหน่ง  ผกก.สภ.ราชสาส์น

ที่ตั้ง : 223 หมู่ 1 ต.ดงน้อย อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา 24120

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอราชสาส์น ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ  53  กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอพนมสารคาม
ทิศใต้ ติดกับ อำเภอแปลงยาว และอำเภอบางคล้า
ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางคล้า
พื้นที่ : 134.9 ตารางกิโลเมตร
ประชากร : 12,713 คน
ความหนาแน่น : 95 คน / ตารางกิโลเมตร
การปกครองส่วนภูมิภาค : อำเภอราชสาส์น แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 3 ตำบล ตำบลดงน้อย ตำบลเมืองใหม่ ตำบลบางคา 31 หมู่บ้าน

ลักษณะภูมิประเทศ 
อำเภอราชสาส์น  มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม  มีคลองธรรมชาติสำคัญไหลผ่าน  คือ  คลองท่าลาด  คลองคูมอญ  และคลองน้ำเตียน

ประวัติความเป็นมาของอำเภอ
ตามนิทานพื้นบ้านเรื่องพระรถเมรีเล่าว่า นางยักษ์แม่ของนางเมรีได้ฝากสารไปกับพระรถเสนไปให้นางเมรีโดยห้ามเปิดสารระหว่างทาง ใจความของสารนั้นคือ ถ้าถึงกลางวันให้กินตอนกลางวัน ถ้าถึงตอนกลางคืนให้กินตอนกลางคืน (ให้บริวารของพวกยักษ์กินพระรถเสนเมื่อไปถึง) เมื่อถึงตำแหน่งที่เป็นอำเภอราชสาส์นในปัจจุบัน พระรถเสนได้พักอยู่กับฤๅษีซึ่งเป็นอาจารย์ของตน พระฤๅษีก็แอบเปิดสารดูจึงแปลงสารจากคำว่า “กิน” เป็นคำว่า “รับ” บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “ราชสาส์น” ซึ่งแปลว่าจดหมายนั่นเอง
อำเภอราชสาส์นเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพนมสารคาม ได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอราชสาส์น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอราชสาส์น ตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2537